การรักษาโรคต้อหินโดยวิธีนวดตา

บทนำ
          บทความนี้ เขียนขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวในการพัฒนาการรักษาโรคต้อหินเรื้อรัง จากการเริ่มต้นด้วยการรักษาตามวิธีมาตรฐาน ที่จักษุแพทย์ใช้กันอยู่ทั่วๆไป แต่ยังแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยไม่ได้ทั้งหมด ยังคงมีผู้ป่วยประมาณ 10% ที่ยังคงตาบอด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดนอกกรอบ ในการหาวิธีใหม่ๆที่อาจจะช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ให้รอดพ้นจากการตาบอดได้ อันเป็นที่มาของการรักษาด้วย การนวดตา และค้นพบว่า การนวดตานอกจากจะช่วยลดความดันลูกตาให้กับผู้ป่วยได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มระบบไหลเวียนเลือดเข้าไปในลูกตาและสามารถหยุดโรคต้อหินเอาไว้ได้ โดยสามารถอธิบายกลไกการเกิดโรคทั้งหมดได้แล้ว
          โรคต้อหินเรื้อรัง เป็นเรื่องของ Demand และ Supply ของเซลล์ประสาท ตาและปริมาณเลือดที่เข้ามาหล่อเลี้ยงภายในลูกตา เมื่อไรที่อยู่ในสภาพสมดุลย์ โรคจะหยุดนิ่ง เมื่อไรที่เกิดภาวะขาดทุน โรคจะ Progress และสูญเสียเซลล์ประสาทตาเพิ่มขึ้น ถ้าภาวะขาดทุนรุนแรง โรคจะมี Active progression และสามารถทำให้ตาบอดได้ในเวลา 1 -2 ปี ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อของจักษุแพทย์ในปัจจุบัน ที่เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากความดันภายในลูกตาไปทำลายเซลล์ประสาทตาโดยตรง และคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่จะค่อยๆเปลี่ยนความเชื่อของจักษุแพทย์ให้มาสนใจในเรื่องระบบไหลเวียนเลือดเป็นสำคัญ ( Ocular blood flow )
นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย
5 ธันวาคม 2550



ต้อหินชนิดเรื้อรัง
Chronic Glaucoma
          เป็นโรคของจอประสาทตา ที่มีการตายของเซลล์และใยประสาทตาอย่างช้าๆไปเรื่อยๆ ทั้งสองตาโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดรอยฝ่อของขั้วประสาทตา ( Glaucomatous optic neuropathy ) กว่าผู้ป่วยจะรู้ถึงความผิดปกติดังกล่าว ก็มักจะตาบอดหรือใกล้จะบอดแล้ว 1 ข้าง ส่วนอีกข้างที่เหลือก็มักจะมีการสูญเสียที่ชัดเจนแล้วเช่นกัน

ต้อหินชนิดเรื้อรัง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดมุมระบายน้ำโดยรอบโคนม่านตาเป็นแบบเปิดกว้าง
ผู้ป่วยอาจจะมีความดันภายในลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ( Normal tension glaucoma )หรือสูงกว่าปกติก็ได้ ( High tension glaucoma )

2. ชนิดมุมระบายน้ำโดยรอบโคนม่านตา เป็นแบบมุมแคบ ( Narrow angle glaucoma )
ทำให้การระบายน้ำภายในลูกตาไม่สะดวก จึงมักจะมีค่าความดันลูกตาสูงกว่าปกติ ต้อหินชนิดนี้สามารถกลายเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน ( Acute angle closure glaucoma )ที่มีอาการปวดตาอย่างรุนแรงจากความดันภายในลูกตาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้

อาการของต้อหินชนิดเรื้อรัง
          เดิมเราเคยมีความเชื่อว่า โรคต้อหินชนิดเรื้อรังไม่มีอาการ แต่จากการค้นคว้าล่าสุด พบว่า ต้อหินชนิดเรื้อรังที่มีความดันลูกตาไม่สูง มักจะมีอาการที่ค่อนข้างชัดเจนพอที่จะเป็นข้อสังเกตให้ผู้ป่วยรู้ตัวว่ากำลังจะเป็นหรือเป็นโรคนี้ เพื่อนำผู้ป่วยให้มาตรวจและรับการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ เนื่องจากต้อหินชนิดนี้ มีสาเหตุเกิดจากการรัดตัวของแผ่น Lamina cribrosa ที่รัดเส้นเลือด ( Central retinal artery )มากเกินพอดี ทำให้เลือดแดงเข้ามาหล่อเลี้ยงในลูกตาได้น้อย บวกกับการใช้สายตาที่มากเกินไป ( Ganglion cells work load )จากภาระหน้าที่การงานหรือวิถีชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทำให้เซลล์ประสาทตาต้องทำงานหนักและต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่เลือดที่ได้รับไม่พอเพียง จึงส่งสัญญานเคมีไปยังเส้นเลือดแดงด้านหลังลูกตา ( Central retinal artery ) ให้เร่งบีบตัวเพื่อส่งเลือดแดงเข้ามาในลูกตาเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถแทรกผ่านส่วนที่แคบที่ถูกรัดโดยแผ่น Lamina cribrosa ได้สะดวก จึงเกิดแรงย้อนกลับมาทำให้เส้นเลือดแดงดังกล่าวโป่งขยายตัวและปวด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดในเบ้าตาหรือปวดบริเวณขมับคล้ายอาการของโรคไมเกรน ซึ่งมักจะพบในกลุ่มอาชีพที่ใช้สายตามากๆ เช่น นักบัญชี นักคอมพิวเตอร์ ช่างเจียรนัยเพชรพลอย เป็นต้น
          สรุปได้ว่า อาการของโรคต้อหินจึงมีที่มาจาก 2 ส่วน คือ อาการปวดจากเส้นเลือดด้านหลังลูกตาโป่งพอง และอาการมองเห็นผิดปกติจากการทำงานที่ผิดเพี้ยนของเซลล์ประสาทในลูกตาเนื่องจากได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ
          ทุกวันนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกมากมายที่เป็นโรคต้อหินโดยที่ตนเองยังไม่ทราบและจักษุแพทย์ก็ยังไม่มีวิธีตรวจหาผู้ป่วยเหล่านี้เช่นกัน ( โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดความดันลูกตาไม่สูง ) ดังนั้น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลอาการของผู้ป่วยโรคต้อหิน ย่อมจะช่วยให้ผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์ได้เร็วขึ้น ก่อนที่ตาจะบอด

สาเหตุของโรคต้อหิน มีความเชื่อแยกออกเป็น 2 ความคิดเห็น คือ
          1.เกิดจากความดันภายในลูกตา ( Ocular tension ) ไปทำลายเซลล์และใยประสาทภายในลูกตา ทำให้เซลล์และใยประสาทตาค่อยๆตายไปเรื่อยๆอย่างเงียบๆโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว จะทราบก็ต่อเมื่อสายตาใกล้บอดเสียแล้ว จักษุแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อในทฤษฎีนี้ การรักษาจึงมุ่งที่จะลดความดันลูกตาให้ต่ำไว้ เพื่อหวังว่าจะหยุดโรคหรือประคับประคองไม่ให้โรคเลวลง ซึ่งการรักษาในปัจจุบัน อยู่ในแนวนี้ทั้งหมด
          2.เกิดจากระบบไหลเวียนโลหิต ( Ocular blood flow ) ที่ไม่สามารถส่งเลือดเข้ามาหล่อเลี้ยงเซลล์และใยประสาทตาในลูกตาได้พอเพียง ทำให้เซลล์และใยประสาทตาค่อยๆเฉาตายไปเรื่อยๆ จนตาบอดในที่สุด จักษุแพทย์ที่เชื่อในทฤษฎีนี้มีอยู่น้อย และขณะนี้กำลังค้นคว้าวิจัย อยู่ในศูนย์วิจัยโรคต้อหินชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อหากลไกที่แท้จริงและวิธีการรักษาด้วยการเพิ่มเลือดเข้าไปในลูกตา ( Enhance ocular blood flow )

กลไกการเกิดโรค
          โรคนี้เกิดจากการเสียสมดุลย์ระหว่างปริมาณเลือดแดงที่เข้ามาหล่อเลี้ยงเซลล์และใยประสาทตา กับสภาวะการใช้สายตา ( Ganglion cells work load ) ปกติ เลือดแดงที่สูบฉีดมาจากหัวใจจะมีแรงดันโดยเฉลี่ยประมาณ 120 มม.ปรอท แต่เมื่อจะเข้ามาหล่อเลี้ยงภายในลูกตา แรงดันเลือดแดงจะถูกปรับลดลงมาให้เหลือน้อยลงจนกระทั่งไม่มีแรงเต้นของชีพจร ( Pulsation ) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การเต้นของเส้นเลือดแดงจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสัญญานภาพ ( แสง ) ให้เป็นสัญญานไฟฟ้า ก่อนที่จะถูกส่งไปตามใยประสาทเพื่อนำข้อมูลการมองเห็นไปยังสมอง อย่างไรก็ตาม แรงดันเลือดแดงที่ถูกปรับลดลงจะต้องมีค่ามากกว่าความดันภายในลูกตา จึงจะสามารถสูบฉีดเลือดแดงเข้าไปในลูกตาได้

กลไกอะไรที่ทำหน้าที่ปรับลดแรงดันดังกล่าว ?
          ถ้าดูโครงสร้างบริเวณขั้วประสาทตาที่เส้นเลือดแดงกำลังจะเข้ามาในลูกตา
          จะมีโครงสร้างเหมือนแผ่นตะแกรงหลายชั้นที่ทำหน้าที่อุดช่องว่างระหว่างใยประสาทตาแต่ละเส้น รวมทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ ( Central retinal artery and vein ) ที่เข้าและออกจากลูกตา เพื่อรักษาแรงดันภายในลูกตาเอาไว้ให้คงที่ไม่ให้ของเหลวในลูกตารั่วซึมออกมาได้ เนื่องจากลูกตาของเราจะทำงานได้ดีจะต้องมีความเต่งคงที่ในขนาดที่พอดี คือไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป แผ่นตะแกรงเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า Lamina cribrosa เชื่อว่าแผ่นตะแกรงเหล่านี้คือกลไกที่ทำหน้าที่ปรับลดแรงดันเลือดแดงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การทำงานหรือความสมบูรณ์ของโครงสร้าง ย่อมมีความผิดพลาดหรือผิดเพี้ยนกันไปได้ ดังนั้น จะมีประชากรของโลกส่วนหนึ่งที่มีปัญหาการรัดตัวของแผ่นตะแกรงนี้มากเกินไป ทำให้ปริมานเลือดแดงเข้าไปหล่อเลี้ยงในลูกตาไม่เพียงพอ เกิดการตายของเซลล์ประสาทตาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงจุดสมดุลย์ ระหว่างปริมานเลือดแดงที่เข้ามาหล่อเลี้ยงและจำนวนเซลล์ที่เหลืออยู่นั่นคือ โรคต้อหินสามารถหยุดการดำเนินโรคได้เองเมื่อถึงจุดสมดุลย์ดังกล่าว นอกจากนี้ ในคนปกติทั่วๆไป จะมีการสูญเสียเซลล์ประสาทตาเล็กๆน้อยๆไปเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้นจากสภาพความเสื่อมของเส้นเลือดแดงตามอายุขัย ( Arteriosclerosis ) แต่จำนวนเซลล์ประสาทตาที่เหลืออยู่ ยังคงมีจำนวนมากพอที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติจนสิ้นอายุขัย อย่างไรก็ตาม กลไกการเกิดโรคต้อหินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตรงไปตรงมาเพียงเท่านี้ เนื่องด้วยยังมี ภาวะอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อความสมดุลย์ ของระบบไหลเวียนเลือดภายในลูกตาอีกหลายกรณี เช่น
          1. ความดันภายในลูกตา ( Ocular tension ) ซึ่งถูกควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์10 - 20 มม.ปรอท ด้วยปริมานน้ำ Aqueous ที่สร้างอยู่ตลอดเวลาโดยโครงสร้าง Ciliary body ภายในลูกตา และถูกระบายออกผ่านทางช่องตะแกรงที่โคนม่านตาที่มีชื่อเรียกว่า Trabecular meshwork
          ทำไมลูกตาเราถึงต้องมีการสร้างน้ำ Aqueous อยู่ตลอดเวลา ? เนื่องจากโครงสร้างที่สำคัญภายในลูกตาที่ใช้ในการปรับโฟกัสภาพให้เราเห็นได้ชัดเจน คือ กระจกตา (Cornea ) และ เลนส์แก้วตา จะต้องมีความใสและโปร่งแสง ดังนั้น การหล่อเลี้ยงสารอาหารและอ๊อกซิเจนให้แก่เซลล์ของโครงสร้างเหล่านี้ จะส่งผ่านระบบหลอดเลือดเหมือนอวัยวะอื่นๆไม่ได้ แต่จะส่งอาหารและอ๊อกซิเจนด้วยระบบซึมผ่านจากน้ำ Aqueous เข้าไปหล่อเลี้ยงเซลล์ หลังจากนั้นน้ำ Aqueus ก็จะถูกระบายออกทาง Trabecular meshwork เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดดำต่อไป
          ความดันภายในลูกตาของคนปกติ ส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน 20มม.ปรอท ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีแรงดันเลือดแดงหลังจากปรับลดโดย แผ่น Lamina cribrosa แล้ว มากเกินพอที่จะดันผ่านแรงต้านภายในลูกตานี้ได้ดี และส่งเลือดแดงเข้ามาหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทภายในลูกตาทั้งหมดได้อย่างพอเพียง( มีประมาณ 1 ล้านเซลล์ / ข้าง ) แต่จะมีบางคนที่มีปัญหาทางระบายน้ำ Aqueous ตีบ เกิดแรงต้านการระบายน้ำ Aqueous ทำให้แรงดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น แรงดันภายในลูกตายิ่งสูง ก็จะมีแรงกดลงบนเส้นเลือดดำ ( Retinal vein ) ภายในลูกตาเพิ่มขึ้นทำให้เกิดแรงย้อนกลับไปต้านเลือดแดงที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงภายในลูกตา ทำให้เลือดแดงเข้ามาได้น้อยลง เซลล์ประสาทตาเมื่อได้รับเลือดแดงมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ก็จะทยอยตายไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงจุดสมดุลย์ และนี่คือกลไกที่แท้จริงของโรคต้อหินชนิดความดันลูกตาสูง ( High tension glaucoma )
          หมายเหตุ ความดันลูกตาที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำลายเซลล์ประสาทตาโดยตรงตามความเชื่อที่มีมากว่า 100 ปี เนื่องจากแรงดันที่กดลงบนจอประสาทตาที่มีชั้นเปลือกนอกลูกตา ( Sclera ) รองอยู่ จะไม่มีผลทำลายเซลล์ประสาทตาโดยตรง เนื่องจากชั้น Sclera เป็นเนื้อเยื่อยืดหยุ่น ( Elastic tissue ) หากชั้น Sclera เป็นวัสดุแข็ง ทฤษฎีที่เชื่อกันอยู่ในปัจจุบันก็อาจมีความเป็นไปได้ ในกรณีต้อหินชนิดเฉียบพลัน ( Acute angle closure glaucoma ) ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการอุดตันทางระบายน้ำAqueous ทั้งหมดทันทีทันใด ทำให้ความดันลูกตาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดแรงกดลงบนเส้นเลือดดำภายในลูกตาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดลดลงอย่างเฉียบพลัน เซลล์ประสาทตาขาดเลือดอย่างรุนแรง หากรีบรับการรักษาด้วยการลดความดันลูกตา ก็สามารถช่วยเหลือรักษาสายตาข้างนั้นเอาไว้ได้
          2. การใช้สายตา ( Ganglion cells work load )
          ชีวิตประจำวันในปัจจุบัน มีการใช้สายตาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาระหน้าที่การงาน การรับรู้ข่าวสาร การบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีการใช้สายตาเพ่งมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้องมองบนแหล่งกำเนิดแสง เช่น จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ ล้วนเป็นการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทตาให้ทำงานหนักกว่าปกติ ตลอดจนการใช้สายตาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การชมภาพยนตร์ชุดเรื่องยาวอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้ล้วนเป็นการใช้งานเซลล์ประสาทตาอย่างหนักเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเซลล์ประสาทตาได้รับเลือดแดงมาหล่อเลี้ยงได้เพียงพอ ก็จะไม่เกิดความสูญเสียของเซลล์ประสาทตา แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่พันธุกรรมมีแนวโน้มจะเป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง คือมียีนส์ที่กำหนดแรงรัดของแผ่น Lamina cribrosa ที่มากเกินไป ก็จะทำให้เกิดโรคต้อหินได้ ต้อหินชนิดความดันลูกตาไม่สูง ( Normal tension glaucoma ) มีสาเหตุจากกลไกนี้ และผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าขณะนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมากกว่ากลุ่มที่มีความดันลูกตาสูงแล้ว
          3. เลือดและระบบไหลเวียนเลือด
          ในคนที่มีปัญหาเลือดจาง หรือในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี เหล่านี้จะยิ่งส่งเสริมให้คนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคต้อหิน เกิดอาการเร็วขึ้น ดังนั้น การออกกำลังกาย การนวดตัว การอบซาวน่า ที่มีส่วนช่วยระบบไหลเวียนเลือด ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาของผู้ป่วยได้บ้าง แต่จะไม่ส่งผลชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากภาวะการขาดเลือดภายในลูกตา เกิดจากการรัดตัวของแผ่น Lamina cribrosa ที่รัดเกินเลยไป ดังนั้น หากสามารถคลายการรัดตัวดังกล่าวได้ ก็เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ ย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังมีอาการที่ดีขึ้น และสามารถหยุดการดำเนินโรคและหยุดการตาบอดได้
          4. Time วันเวลาที่ผ่านไป ทำให้เส้นเลือดแดงเสื่อมคุณภาพลง ( arteriosclerosis ) ความยืดหยุ่นของแผ่น Lamina cribrosa ก็ลดลง กระด้างขึ้น ทำให้เลือดแดงแทรกผ่านเข้าไปในลูกตาได้น้อยลงตามอายุขัย เซลล์ประสาทตาจะค่อยๆสูญเสียไปยังช้าๆในช่วงปลายของชีวิต ดังนั้น ในอดีตเราจะพบผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังส่วนใหญ่ในผู้สูงอายุ และถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคตาของผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เนื่องด้วยวิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มีการใช้สายตาหนักมากขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ระหว่างระบบไหลเวียนเลือด และการทำงานของเซลล์ประสาทตา จึงทำให้โรคต้อหินเกิดเร็วขึ้น ดังนั้น เราจะพบผู้ป่วยโรคต้อหินมากขึ้นในคนหนุ่มสาววัยทำงาน และโรคต้อหินกำลังจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยและของโลกตั้งแต่ทศวรรษนี้เป็นต้นไป

การรักษาโรคต้อหินเรื้อรัง
          ปัจจุบัน การรักษาโรคต้อหินเรื้อรัง เป็นวิธีการรักษาโดยการลดความดันลูกตาทั้งสิ้น การลดความดันลูกตาน่าจะได้ผลดี ถ้าทฤษฎีความดันลูกตา เป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคต้อหินเรื้อรัง และการรักษาด้วยการลดความดันลูกตา น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นชัดเจน สามารถควบคุมการดำเนินโรคได้ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรัง ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า ผลของการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยรอดพ้นจากตาบอดได้หรือไม่ ( Unpredictable ) ผู้ป่วยโรคต้อหินในสหรัฐอเมริกา ได้รวมกลุ่มกันเพื่อปรึกษาหารือ ปลอบใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นอกจากจะรับการรักษาดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต้อหินแล้ว ยังช่วยกันค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ที่จะดูแลตัวเองไม่ให้โรคเลวลง เนื่องจากจักษุแพทย์ที่สหรัฐฯ บอกผู้ป่วยตามตรงว่า ถึงแม้จะรับการรักษาทุกอย่างแล้วก็ตาม อย่างน้อย 10 % ของผู้ป่วยจะยังคงตาบอด และขณะนี้ศูนย์วิจัยโรคต้อหินชั้นนำในต่างประเทศ กำลังเร่งค้นคว้าวิจัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและการรักษาที่จะหยุดโรคเอาไว้ให้ได้ ซึ่งผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทราบแต่เพียงว่า ถ้าไม่อยากตาบอด ให้ใช้ยาสม่ำเสมอมิให้ขาด และรับการผ่าตัดหรือยิงเลเซอร์เมื่อได้รับคำแนะนำให้ทำ

มาตรการลดความดันลูกตา ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังชนิดความดันลูกตาสูง ( High tension glaucoma ) มีอยู่ 3 วิธีการ คือ
          1. การใช้ยา ( Medication ) มีทั้งเป็นรูปยาหยอดตา และยากิน ผลของการลดความดันลูกตา มีประสิทธิผลดีในระยะสั้น ในระยะยาวมักประสบปัญหาการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนยาขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใช้ยาหลายๆชนิด ก็ยิ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงจากสารกันบูดที่ผสมอยู่ในขวดยา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองตา ตาแดง ตาแฉะ ขี้ตาเกรอะกรัง เป็นต้น นอกจากนี้ ยาในกลุ่ม Prostaglandin analog เช่น Xalatan, Travatan และ Lumigan หากใช้เพื่อลดความดันลูกตาในตาที่มีการอักเสบ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มขึ้น แทนที่จะลดลง
          2. การผ่าตัด ( Trabeculectomy ) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางระบายน้ำAqueous ขึ้นมาใหม่
          มาตรการนี้ มีประโยชน์ในรายที่ความดันลูกตายังสูงเกินไป ( High tension glaucoma )ทั้งๆที่ใช้ยาเต็มที่แล้วและโรคยังคงเลวลง ( Progress ) การผ่าตัดจะช่วยให้ความดันลูกตากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติและเลือดเข้ามาหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทในลูกตาได้ดีขึ้น
          ในกรณีผู้ป่วยชนิดความดันลูกตาไม่สูง( Normal tension glaucoma ) และโรคยังคงเลวลง ( Progress ) ทั้งๆที่ใช้ยาลดความดันลูกตา เต็มที่แล้ว การผ่าตัดจะให้ผลที่แตกต่างออกไป จักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคต้อหินทราบดีว่า การผ่าตัดผู้ป่วยโรคต้อหินทุกครั้ง จะต้องแลกกับการสูญเสียเซลล์ประสาทตาไปบางส่วนหลังการผ่าตัด เพื่อหวังว่าโรคจะนิ่งหรือเลวช้าลง ฉะนั้น กลไกที่แท้จริงที่การผ่าตัด สามารถช่วยผู้ป่วยโรคต้อหินก็คือ จำนวนเซลล์ที่ลดลงหลังการผ่าตัด ทำให้ความต้องการเลือดภายในลูกตาโดยรวมลดลงตาม และความดันลูกตาที่ลดต่ำลงก็มีส่วนช่วยให้เลือดเข้ามาในลูกตาได้เพิ่มขึ้น เกิดความสมดุลย์ระหว่าง Demand และ Supply อีกครั้งหนึ่ง ทำให้โรคหยุดนิ่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกเมื่อเวลาผ่านไป ( คล้ายกับหลักการ ยิงเลเซอร์ PRP ในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตา ที่ใช้เลเซอร์ยิงทำลายเซลล์ประสาท ตารอบนอก เพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดที่มีน้อย สามารถหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทตาส่วนกลางที่สำคัญเอาไว้ได้อย่างพอเพียง )
          3. การยิงเลเซอร์ ( Laser trabeculoplasty ) ใช้เมื่อการใช้ยาไม่ได้ผลเช่นกัน แต่ประสิทธิผลด้อยกว่าการผ่าตัด

          จากปัญหาที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานจากการรักษาในปัจจุบัน เช่น ภาระในการใช้ยาหลายๆชนิดในแต่ละวัน ปัญหาค่ายาที่มีราคาแพง ปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา ปัญหาผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และความไม่แน่นอนของผลในการรักษา จึงนำไปสู่การคิดค้นวิธีรักษาวิธีใหม่ในการลดความดันลูกตา ที่เรียกว่า การนวดตา และยังค้นพบลึกลงไปอีกว่า ระบบไหลเวียนเลือดภายในลูกตา คือสาเหตุหลักของโรคต้อหินเรื้อรัง ความดันลูกตาที่สูงกว่าปกติเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของโรคต้อหิน เรื้อรัง แต่เป็นเพียงสาเหตุรองเท่านั้น และเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า มาตรการลดความดันลูกตาทั้ง 3 ชนิด ทำไมไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดพ้นจากการตาบอดได้ ทั้งๆที่รับการรักษาเต็มที่ทุกอย่างแล้ว ซึ่งแตกต่างจากการรักษาด้วยวิธีการนวดตา ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนในเวลา 1 เดือน โดยไม่มีข้อยกเว้น
หน้า 1  2  3  4  

-->กลับสู่หน้าแรกของเวบโรคต้อหิน <--

-->กลับสู่หน้าหลักงานวิจัยของน.พ. สมเกียรติ<--